วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Latest:
ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสวดบารมี 9 ชั้น บารมี ๓๐ ทัศ คืออะไร ? สร้างได้อย่างไร? อานิสงส์ บารมี 30 ทัศ?

บทสวดบารมี 9 ชั้น หรือ บทบารมี 30 ทัศ (ครูบาเจ้าศรีวิชัย)

“เชื่อกันว่าการสวดมนต์บทนี้ จะช่วยเพิ่มบุญบารมีมากมายมหาศาลหาค่ามิได้”

ครั้งหนึ่งสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย เดินธุดงค์แถบภาคเหนือ ขณะที่ท่านเดินผ่านทุ่งนาแห่งหนึ่ง ท่านได้สังเกตเห็น (กระท่อม) เถียงนาหรือว่าห้างนา แล้วแต่เจ้าสิเอิ้นหรือเข้าใจเด้อ อิอิ กระท่อมที่ถูกไฟไหม้เกือบทั้งหลัง แต่ก็เหลือชายคาอีกบางส่วนที่ยังไม่ไหม้ไฟ ท่านคงแปลกใจ ท่านจึงเดินไปดู ท่านก็เห็นหนังสือใบลาน (เป็นคาถา บารมี 9 ชั้น) อยู่ฉบับหนึ่งเหน็บอยู่ที่ชายคาเขียนเป็นภาษาล้านนา (ตั๋วเมือง) ซึ่งเป็นคำไหว้บารมี 30 ทัศ ท่านจึงนำมาใช้กับตัวท่านตลอดมา คาถาบารมีเก้าชั้น หรือ คาถาเรียกบารมี 30 ทัด ปกปักรักษาเวลากลางคำกลางคืนรวมถึงเรียกคุณพระแม่ธรณีและคุณทั้งปวงมาปก ปักรักษาให้รอดพ้นจากภัยพิบัติอันตรายทั้งหลายทั้งปวง นี่ก็เป็นคาถาอีกบทหนึ่งที่นิยมใช้กันทางภาคเหนือ ปัจจุบันค่อยเลือนหายไปน้อยคนนักที่จะรู้จัก เป็นคาถาประจำตัวท่านครูบาศรีวิชัยเจ้าอีกบทหนึ่งเช่นกัน

บารมี ๓๐ ทัศ  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระสมติงสบารมี หมายถึง พระบารมีสามสิบถ้วน ซึ่งเป็นธรรมพิเศษหมวดหนึ่ง มีชื่อว่า พุทธกรณธรรม เป็นธรรมพิเศษที่กระทำให้ได้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แบ่งย่อยเป็น ๓ ขั้น ได้แก่ บารมีขั้นต้น คือ เนื่องด้วยวัตถุ และทรัพย์นอกกาย บารมีขั้นกลางหรืออุปบารมี คือ เนื่องด้วยเลือดเนื้อ อวัยวะ และบารมีขั้นสูงสุด   หรือ ปรมัตถบารมี คือ เนื้องด้วยชีวิต

“ตำรับวิชาบารมี ๓๐ ทัศ” นี้เป็นตำราของพระโบราณจารย์ยุคเก่าตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นสรรพวิชาที่ศักดิ์สิทธิ์สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โบราณจารย์จารึกไว้ว่า พระเวทวิชาบารมี ๓๐ ทัศ หรือพระบารมี ๓๐ ทัศ เป็นพระบารมีที่พระโพธิสัตว์ทุกๆ พระองค์ ได้ทรงบำเพ็ญบารมีมาจนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องประกอบไปด้วย ทานบารมี ๓ ขั้น ศีลบารมี ๓ ขั้น เนกขัมมะบารมี ๓ ขั้น ปัญญาบารมี ๓ ขั้น วิริยะบารมี ๓ ขั้น ขันติบารมี ๓ ขั้น สัจจะบารมี ๓ ขั้น อธิษฐานบารมี ๓ ขั้น เมตตาบารมี ๓ ขั้น และอุเบกขาบารมี ๓ ขั้น รวมกันเป็นบารมี ๓๐ ทัศ

ส่งผลให้อุดมไปด้วยอิทธิคุณวิเศษมากมายเหลือคณานับ หญิงใดชายใด เด็กหรือผู้ใหญ่ ได้เข้าร่วมพิธีเกี่ยวกับบารมี “๓๐ ทัศ” โดยเฉพาะการเป่ายันต์มหาบารมี ๓๐ ทัศแล้วนับว่าเป็นมหามงคลบารมียิ่งนักสุดจะพรรณนา อีกประการหนึ่งโบราณจารย์ กล่าวไว้ในตำราด้วยว่า วิชานี้เป็นพระคาถาที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราช ทรงศึกษาเล่าเรียนมาจากสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว แล้วอาราธนาก่อนออกทำการ “ยุทธหัตถี” กับมหาอุปราชา จนทำให้ทรงมีชัยชนะ ทรงปกป้องรักษาบ้านเมืองไว้ได้ สมัยโบราณตีราคาพระคาถานี้เท่ากับค่าควรเมืองเลยทีเดียว

บารมี หมายถึง การกระทำที่ประเสริฐ การกระทำที่ประกอบด้วยกุศลเจตนาคุณงามความดีที่ควรกระทำ คุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญมา คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่ เป็นธรรมส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งช่วย เหลือเกื้อกูลให้ผู้ปฏิบัติได้ถึงซึ่งโพธิญาณ

บุญแตกต่างจากบารมี คือบุญทำเป็นชั่วครั้งชั่วคราว แต่บารมีต้องสร้างต่อเนื่องจึงเรียกว่า บารมี แบ่งเป็น 3 ขั้น(ระดับ) ได้แก่

๑. บารมีขั้นต้น คือ

เนื่องด้วยวัตถุ และทรัพย์นอกกาย เช่น การสละทรัพย์ช่วยผู้อื่น จัดเป็น ทานบารมี, รักษาศีลแม้ว่าจะต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง จัดเป็น ศีลบารมี, หรือ ยอมถือบวชโดยไม่อาลัยในทรัพย์สิน จัดเป็น เนกขัมบารมี เป็นต้น

๒. บารมีขั้นกลางหรืออุปบารมี คือ

เนื่องด้วยเลือดเนื้อ อวัยวะ เช่น การสละเลือดเนื้ออวัยวะแก่ผู้อื่น จัดเป็น ทานอุปบารมี, การใช้ปัญญารักษาอวัยวะเลือดเนื้อของผู้อื่น จัดเป็น ปัญญาอุปบารมี ,การมีความเพียรจนไม่อาลัยในเลือดเนื้อหรืออวัยวะ จัดเป็น วิริยะอุปบารมี, มีเมตตาต่อผู้ที่จะมาทำร้ายเลือดเนื้ออวัยวะของตน จัดเป็น เมตตาอุปบารมี, หรือ มีความอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่จะมาทำลายอวัยวะของตน จัดเป็น ขันติอุปบารมี เป็นต้น

๓. บารมีขั้นสูงสุดหรือปรมัตถบารมี คือ

เนื่องด้วยชีวิต เช่น การสละชีวิตเป็นทานแก่ผู้อื่น จัดเป็น ทานปรมัตถบารมี , ยอมสละแม้ชีวิตเพื่อจะรักษาคำพูด จัดเป็น สัจจปรมัตถบารมี, ตั้งจิตไม่หวั่นไหวต่อคำอธิษฐานแม้จะต้องเสียชีวิต จัดเป็น อธิษฐานปรมัตถบารมี, หรือ วางเฉยต่อผู้ที่จะมาทำร้ายชีวิตของตน จัดเป็น อุเบกขาปรมัตถบารมี เป็นต้น

ดังนั้น จึงรวมเป็นบารมี ๓๐ ทัศ หมายถึง บารมี ๑๐ ทัศ แต่มี ๓ ระดับ จึงรวมได้ ทั้งหมด ๓๐ ทัศได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี

อานิสงส์ บารมี 30 ทัส ของพระนิยตะโพธิสัตว์
พระนิยตะโพธิสัตว์เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์เป็นครั้งแรก จะมีอานิสงส์ 18 อย่าง ตลอดจนได้ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่


1. เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมไม่เกิดเป็นคนมีจักษุบอดมาแต่กำเนิด
2. ไม่เป็นหูหนวกแต่กำเนิด
3. ไม่เป็นคนบ้า
4. ไม่เป็นคนใบ้
5. ไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย
6. ไม่เกิดในมิลักขประเทศคือประเทศป่าเถื่อน
7. ไม่เกิดในท้องนางทาสี (แต่เกิดในฐานะคนจันทาลได้ ดัง พระโพธิสัตว์ มาตังคะฤาษี ท่านเป็นบุตรคนจันทาล แต่ไม่ได้เป็นนางทาสี)
8. ไม่เป็นนิยตมิจฉาทิฐิ
9. ไม่เป็นสตรีเพศ
10. ไม่ทำอนันตริยกรรม
11. ไม่เป็นโรคเรื้อน
12 เมื่อเกิดเป็นสัตว์เดียรฉาน มีกายไม่เล็กกว่านกกระจาบ และ ไม่ใหญ่ไปกว่าช้าง
13. ไม่เกิดใน ขุปปิปาสิกเปรต นิชฌานตัณหิกเปรต และกาลกัญจิกาสุรกาย
14. ไม่เกิดในอเวจีนรก และโลกันตนรก
15. ไม่เกิดเป็นเทวดาใน กามาพจรสวรรค์ ไม่เกิดเป็นเทวดาที่นับเข้าในเทวดาพวกหมู่มาร
16. เมื่อเกิดเป็นรูปพรหม จะไม่เกิดใน ปัญจสุทธวาสพรหมโลก(พรหมชั้นอนาคามี) และอสัญญสัตตาภูมิพรหม( มีแต่รูปอย่างเดียว)
17. ไม่เกิดในอรูปพรหมโลก
18. ไม่เกิดในจักรวาลอื่น อานิสงส์พิเศษอีกอย่างหนึ่งของนิยตโพธิสัตว์ คือ การทำอธิมุตตกาลกริยา คือเมื่อท่านเกิดเป็นเทวดาหรือพระพรหม เกิดความเบื่อหน่าย ในการเสวายสุขนั้น ปรารถนาที่จะสร้างบารมีในโลกมนุษย์ ท่านก็สามารถทำการอธิมุตต คืออธิษฐานให้จุติ(ตายจากการเป็นเทพ)มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ทันที ได้โดยง่าย ซึ่งเหล่าเทพเทวดาอื่นๆ ไม่สามารถทำอย่างนี้ได้

 

เรียบเรียงโดย อบจ.ลำพูน

ที่มา http://www.dharma-gateway.com , http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/126932 ,http://www.tnews.co.th/contents/302174,http://www.appgeji.com

 

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.